วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ปลาร้าบอง

ารรับประทานอาหารทุกมื้อของชาวอีสาน ปลาร้า หรือปลาแดก จะเป็นพระเอกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหลัก หรือเป็นส่วนประกอบ/เครื่องปรุงอาหารอื่น หากมื้อใดในพาข้าวปราศจากซึ่งปลาร้า วันนั้นจะมีความรู้สึกว่าเหมือนยังไม่ได้กินอะไรลงท้องเลย ผู้เขียนเคยได้ยินเสียงบ่นของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า

"มื้อนี่กินเข่าบ่อุ่นท้อง บ่มีแฮง บ่ได้จ้ำแจ่วปลาแดก ละคือจั่งบ่ทันได้กินอีหยัง"

ปลาร้าจึงให้พลังโดยให้คุณค่าทางด้านสารอาหาร และยังเป็นตัวกระตุ้นร่างกายให้เจริญอาหาร ให้กระฉับกระเฉง กระตือรือร้นไม่เฉื่อยชา การรับประทานปลาร้าของชาวอีสานจะแบ่งเป็นสองลักษณะคือ รับประทานตัวปราร้าและน้ำปลาร้า (ในรูปของเครื่องปรุงรส)
การนำเอาตัวปลาร้ามารับประทานส่วนใหญ่จะนำเอาปลาร้าตัวโต เช่น ปลาช่อน ปลาดุก โดยนำมาปรุงเป็นปลาร้าบอง ปลาร้าสับ ปลาร้าย่าง แจ่วบอง ตามกรรมวิธีและสูตรดั้งเดิม ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นปลาร้าหลน ปลาร้าทรงเครื่องและปลาร้าทอด ตามชอบ ในที่นี้ขอเสนอตำหรับดั้งเดิมสำหรับท่านครับ

วิธีการทำปลาร้าบองหรือแจ่วบอง

แจ่วบอง เป็นน้ำพริกอีสานที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักกันดีเป็นอย่างยิ่ง อันว่า แจ่ว แปลว่า น้ำพริก คำว่าบองนั้นมันเพี้ยนมาจากบ้อง
เพราะสมัยก่อนพี่น้องชาวอีสานจะทำแจ่วบองใส่บ้องไว้ใช้สำหรับการเดินทางไกลๆเก็บไว้กินได้นาน แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนมาใช้กระปุกพลาสติกแทนแล้ว

ส่วนผสมพริก 500 กรัม
ข่า 300 กรัม
กระเทียม 5 กก.
หอม 5 กก.
งา 300 กรัม
ใบมะกรูด 200 กรัม
และปลาร้า 6 กก.(ปลาร้าที่นำมาทำปลาร้าบอง ต้องเป็นปลาที่ผ่านการหมักมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งนิยมใช้ปลาช่อนเพราะมีเนื้อนุ่มกว่าปลาชนิดอื่น
)
****
ส่วนผสมเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมในการทำว่าทำมากหรือน้อยแค่ไหน


วิธีทำ
นำปลาร้ามาสับให้ละเอียด (หรือบด)

- นำเครื่องเทศต่าง ๆ มาหั่นให้ละเอียด

- ผสมน้ำมะขามเปียกกับน้ำอุ่นหรือน้ำต้มสุก

- นำปลาร้าที่สับละเอียดแล้วใส่กระทะตั้งไฟให้สุก

- จากนั้นเทน้ำมะขามเปียก เครื่องเทศที่หั่นไว้แล้วลงไปผสมกับปลาร้าสับ คนให้สุกอีกครั้งด้วยไฟอ่อน ๆ

- ปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล พริกป่น ตามรสที่ต้องการ

- นำออกจากเตา รอจนเย็นแล้วนำมาบรรจุตลับหรือภาชนะที่สะอาดตามแต่ต้องการ สามารถเก็บไว้กินหลายเดือน

คุณรู้หรือไม่ว่าแจ่วบองมันได้กลายเป็นสินค้าโอทอปไปแล้ว และทำรายได้ให้กับครัวเรือนไปแล้วมากมาย

แจ่วปลาร้า

แจ่วปลาร้าเป็นการปรุงอาหารประเภทน้ำพริก เครื่องปรุงประกอบด้วยผักพื้นบ้านที่มีรสจัด เช่น รสเผ็ดจัดของพริกสดพริกแห้ง รสเค็มของปลาร้า รสเปรี้ยวของมะนาว มะขาม มะกอก มะเขือเทศ การทำแจ่วปลาร้าสามารถทำได้ทั้งพริกสด พริกแห้งขึ้นอยู่กับเวลาที่ต้องการรับประทาน
เครื่องปรุงประกอบด้วย น้ำปลาร้าต้มสุก พริกสด (เผาไฟ) พริกแห้ง ตามชอบ หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศเผาไฟให้หอม นำเครื่องหอม และพริกมาโขลกรวมกันให้ละเดียด เติมน้ำต้มปลาร้าลงไป เพิ่มรสเปรี้ยวด้วยผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวตามฤดูกาล เช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะกอก มะอึก ถ้าเป็นหน้าฝนต้องเพิ่มกลิ่นด้วยการใส่แมงดาเผาไฟโขลกลงไปด้วย จะได้แจ่วแมงดารสแซบจริงๆ
รับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ นึ่งปลา นึ่งผัก ผักลวก หรือผักสดตามชอบในแต่ละฤดูกาล โดยที่เครื่องปรุงแจ่วปลาร้ามีรสจัดและกลิ่นหอม จึงช่วยให้เจริญอาหาร ขับเลือด ขับลม ขับเหงื่อ (เพราะเผ็ด) ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน นอกจากนั้นแล้วการที่เรารับประทานกับผักพื้นบ้าน จึงได้ทั้งคุณค่าด้านอาหารและเป็นยาสมุนไพร ช่วยในการขับถ่ายอีกด้วย โดยเฉพาะถ้าปรุงรสเปรี้ยวด้วย มะขาม มะม่วง มะอึก และมะกอกผลสุก

น้ำพริกปลาร้า (ป่น)

น้ำพริกปลาร้าหรือป่น หมายถึงการปรุงอาหารที่เครื่องปรุงหลักประกอบด้วยเนื้อจากปลา กบ กุ้งหรือแมลง โขลกให้ละเอียดคลุกเคล้ากับพริก เครื่องหอม มะนาวหรือผลไม้เปรี้ยวตามฤดูกาล โดยใช้น้ำต้มปลาร้าเป็นกระสายละลายเนื้อให้กลมกล่อม ป่นที่ฅนอีสานนิยมรับประทานได้แก่ ป่นปลา ป่นกบ ป่นกุ้ง ป่นจินูน ป่นปูนา ป่นดักแด้ เป็นต้น
คุณค่าของอาหารประเภทนี้ ได้จาก โปรตีนในเนื้อสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ไขมันและแคลเซียมที่สูงมาก เช่น แมงจินูน ในปริมาณ 100 กรัม ให้แคลเซียม 22.6 มก. ฟอสฟอรัส 207.0 มก. โซเดียม 464.8 มก. โปแตสเซียม 462.7 มก. วิตามิน (บี 1) 0.29 มก. วิตามิน (บี 2) 1.19 มก. ไนอาซีน 3.99 มก.
ตัวอย่างการทำ : ป่นปลา
เครื่องปรุง

ปลาช่อนหรือปลาดุกต้มน้ำปลาร้า พริกสด หัวหอม กระเทียมเผาไฟ มะนาว ต้นหอม ผักชีหอม สะระแหน่

วิธีการปรุง

เผาพริกสด หัวหอม กระเทียมให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดพอประมาณ นำเนื้อปลาที่ต้มสุกแล้วโขลกรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าที่ต้มสุก น้ำปลาและน้ำมะนาว คนให้เข้ากันแล้วโรยด้วยต้นหอม ผักชีหอม สะระแหน่หั่นฝอย รับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ เคียงด้วยผักรสหวานมัน รสเปรี้ยว รสขมฝาด จะได้รสชาติและคุณค่าอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น